ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านพบเรืออีโปงโบราณ ที่ขุดจากต้นตะเคียนทั้งต้น ในพื้นที่บ้านหนองแมวโพง หมู่ที่ 11 ตำบลหนองใหญ่ อำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด ณ วังขอนดู่ ในลำน้ำยัง เมื่อเดินทางไปตรวจสอบพบ เจ้าอาวาสวัดสว่างบึงทอง พร้อมพระลูกวัด 5 รูป สามเณร 1 รูป และชาวบ้านหนองแมวโพง หมู่ที่ 11
ตำบลหนองใหญ่ อำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด ช่วยกันใช้จอบและเสียมขุดเรืออีโปง ที่ถูกทรายทับถมในลำน้ำยังเพื่อนำไปเก็บไว้ที่วัด ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาวิเคราะห์ เรียนรู้วัฒนธรรม ความคิด และความลำบากของผู้คนในอดีต
ลักษณะของเรือที่พบส่วนท้ายเรือโผล่ ส่วนหัวเรือจมลงในทรายลำน้ำยังประมาณ 3 เมตร ลักษณะของเรือคือการขุดเอาส่วนที่เป็นไส้ของต้นไม้ซุงตะเคียนทั้งต้น ออกให้เป็นโพงเหลือส่วนที่แข็งคือเปลือกไว้เป็นเรือ ขุดจากต้นตะเคียนทั้งต้น ยาวประมาณ 15 เมตร เพื่อนำมาเป็นพาหนะทางน้ำของชาวบ้านลุ่มน้ำยัง คาดว่าอายุกว่า 150-200 ปี
โดยจุดพบเรือไปทางทิศเหนือประมาณ 1 กิโลเมตร ชาวบ้านบอกว่าเป็นจุดพักข้าวที่คนจีนสมัยโบราณรับซื้อมาจากชาวเผ่าภูไท ในเขตอำเภอบัวขาว-อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ และอำเภอคำชะอี ด้านจังหวัดมุกดาหาร แล้วนำข้าวที่ซื้อมาพักไว้บริเวณริมฝั่งลำน้ำยัง ปัจจุบันคือบริเวณสะพานข้ามลำน้ำยัง รอยต่ออำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด และอำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์
เรือโปงขนาดยาวในอดีต ใช้บรรทุกสินค้า เช่น ข้าว -โค้นปอ-ของป่า เพื่อทยอยไปขึ้นเรือกระแซงที่จอดอยู่กลางลำน้ำยังในฤดูน้ำหลาก เมื่อข้าว หรือ โค้นปอ (สินค้า) เต็มลำเรือกระแซง ลูกเรือกระแซงประมาณ กว่า 20 คน ใช้ไม้ไผ่พันธุ์พื้นบ้านยาวๆ ทอเรือกระแซงล่องไปตามลำน้ำยัง ไปขึ้นฝั่งขายสินค้าที่อำเภอเมืองยศบ้าง (ปัจจุบันเป็นจังหวัดยโสธร) หรือไปขายที่จังหวัดอุบลราชธานีบ้าง
ทั้งนี้ หลังจากเอาขึ้นมาได้ จะนำมาตั้งไว้ภายในวัด เพื่อให้ผู้คนบูชากราบไหว้ ชาวบ้านบางคนเชื่อว่าจะมาให้โชค ก็จะนำความยาวของเรือ คือ 15 เมตร ไปเสี่ยงโชคในงวดวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 ที่จะถึงนี้